อีเมล์ :
รหัสผ่าน :
ลืมรหัสผ่าน
ข้อมูลพื้นฐาน
ลักษณะภูมิประเทศ

ที่ตั้ง
เทศบาลตำบลบางเหรียง มีเนื้อที่โดยประมาณ 69.97 ตารางกิโลเมตร (43,731 ไร่)    (เขต 1 พื้นที่ 47.84 ตร.กม.   เขต 2 พื้นที่ 22.13 ตร.กม) อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของที่ว่าการอำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา ระยะทางห่างจากที่ว่าการอำเภอควนเนียงประมาณ 8 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดสงขลา ประมาณ 72 กิโลเมตร

มีอาณาเขต ดังนี้
ทิศเหนือ จด อบต.รัตภูมิ อำเภอควนเนียง
ทิศใต้ จด อบต.บางกล่ำและ เทศบาลตำบลท่าช้าง อำเภอบางกล่ำ
ทิศตะวันออก จด อบต.บางกล่ำ อำเภอบางกล่ำ และทะเลสาบสงขลา
ทิศตะวันตก จด เทศบาลเมืองกำแพงเพชร  อำเภอรัตภูมิ

ลักษณะการปกครองท้องที่ตำบลบางเหรียง  มีจำนวน ๑๓ หมู่บ้าน
หมู่ที่ ชื่อบ้าน
1 บ้านคลองคล้า 
2 บ้านยางหัก 
3 บ้านบางเหรียง 
4 บ้านบางเหรียงบน 
5 บ้านบางเหรียงใต้  
6 บ้านเกาะน้ำรอบ  
7 บ้านบางทีง 
8 บ้านเกาะใหญ่  
9 บ้านคลองช้าง 
10 บ้านโหล๊ะหนุน 
11 บ้านแพรกสุวรรณ 
12 บ้านโคกเมือง 
13 บ้านหน้าควน 
ประวัติเทศบาลตำบลบางเหรียง
ตำบลบางเหรียง  อำเภอควนเนียง  จังหวัดสงขลา เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา ซึ่งเดิมนั้นขึ้นกับอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา “บางเหรียง” เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “บางเรียง” กล่าวคือ การตั้งชื่อบ้านในอดีตนั้นเริ่มต้นมาจากอำเภอหาดใหญ่ที่มีชื่อชุมชนหนึ่งว่า บ้านบางแฟบ แล้วไล่เรียงกันมาเป็น บางกล่ำ บางหยี บางทีง เรียงกันมาจนถึงบางสุดท้ายคือ บางเรียง ก็คือตำบลบางเหรียงในปัจจุบันซึ่งในตำบลบางเหรียงมีหมู่บ้านที่ใช้ชื่อบางเหรียงถึง 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 3 บ้านบางเหรียงตก เพราะตั้งอยู่    ทางฝั่งตะวันตกของคลองบางเหรียง หมู่ที่ 4 บ้านบางเหรียงบน เพราะตั้งอยู่ต้นน้ำของคลองบางเหรียงและ คลองบางกล่ำ และหมู่ที่ 5 บ้านบางเหรียงใต้ เพราะอยู่ล่างสุด อาณาเขตติดต่อกับทะเลสาบ

สำหรับชุมชนของตำบลบางเหรียงนั้น ถ้าหากดูตามลักษณะอาคารบ้านเรือนก็คาดว่าชุมชนแรกในตำบลบางเหรียง คือชุมชนที่อยู่อาศัยริมคลองบางเหรียง เนื่องจากยังมีสภาพอาคารบ้านใต้ถุนสูงซึ่งเป็นรูปทรงอาคารบ้านเรือนในอดีตและประชาชนกลุ่มแรกที่มาตั้งถิ่นอาศัยเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ที่มาทำมาค้าขายโดยการปลูกละมุด (สะหวา) ส้มโอ และพลู เพราะในสมัยก่อนนั้นประชาชนส่วนใหญ่นิยมกินหมากเป็นการต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมบ้าน และในระยะต่อมาก็กลายมาเป็นสวนผักที่มีชื่อเสียง ในอดีตประชาชนในตำบลบางเหรียงได้ค้าขายโดยทางเรือไปมาหาสู่ค้าขายกับชุมชนบ้านเกาะยอ และเมื่อมีการก่อตั้งสถานีรถไฟก็มีการนำผักไปขายบนรถไฟโดยเริ่มต้นที่สถานีบ้านเกาะใหญ่ไปสิ้นสุดสถานีรถไฟหาดใหญ่และบางส่วนก็ไปสิ้นสุดที่สถานีรถไฟบ้านปากคลอง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และส่งสินค้าไปขายต่อที่จังหวัดตรัง ถ้าหากยังมีผักเหลือผู้ค้าก็จะนำผักไปขายบริเวณตลาดรถไฟ จนทำให้ผู้ที่เดินทางด้วยรถไฟรู้จักตำบลบางเหรียงเป็นอย่างดี 

วิสัยทัศน์

“ประชาชนตำบลบางเหรียงสุขภาพดี  มีการศึกษา  ก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ  ดำรงชีวิตแบบพอเพียง” 

พันธกิจ
1. ส่งเสริมการประกอบอาชีพของประชาชน 
2. พัฒนาคน สังคม และสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง 
3. พัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน 
4. การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 
5. การบริหารจัดการสาธารณภัยอย่างเป็นระบบ 
6. การส่งเสริมการท่องเที่ยว สืบทอดประเพณีวัฒนธรรมและภูมิปัญญา